วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การบริหารหลักสูตรสถานศึกษา สู่ความเป็นเลิศ

การบริหารหลักสูตรสถานศึกษา สู่ความเป็นเลิศ

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ต้องสอดคล้องกับสภาพบริบทของสถานศึกษา
การบริหารหลักสูตรสถานศึกษา สู่ความเป็นเลิศ

ธนสาร  บัลลังก์ปัทมา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  มหามงคล จังหวัดนครปฐม ประชากรที่ใช้ในการวิจัย   ได้แก่   ผู้บริหารและครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล  จังหวัดนครปฐม  ประกอบด้วย    ผู้บริหาร 2 คน และครู จำนวน 52 คน  รวมทั้งหมด 54 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 3 ตอน    มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.99    สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ  ค่าเฉลี่ย (m) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (s)
                ผลการวิจัยพบว่า สภาพการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ        มหามงคล  จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับมาก       ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล  จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับน้อย   แนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ     มหามงคล   จังหวัดนครปฐม  สรุปได้ ดังนี้           ด้านการเตรียมความพร้อม เห็นว่า มีแนวทางการพัฒนา คือ ควรพาไปศึกษาดูงานจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ศึกษาสื่อเอกสารหรือศึกษาจากโรงเรียนนำร่อง เครือข่ายหรือแกนนำหรือโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ    ด้านการใช้หลักสูตร  มีแนวทางการพัฒนา    คือ   ควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้       ด้านการนิเทศ และ ติดตามผลการใช้หลักสูตร มีแนวทางการพัฒนามากที่สุด      คือ     ควรมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการใช้หลักสูตรภายในสถานศึกษา 

     

บทนำ
          ผลจากการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร จากเดิมกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรให้ทุกโรงเรียนใช้หลักสูตรเดียวกันทั่วประเทศ มาเป็นการให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรของตัวเองที่เรียกว่าหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนหลายแห่งขาดความพร้อมในการจัดทำหลักสูตร ครูขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาหลักสูตร จึงเกิดปัญหาในการจัดทำหลักสูตร  ทำให้หลักสูตรไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง  ทั้งนี้เพราะการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุผล ต้องอาศัยสิ่งที่สำคัญคือหลักสูตร เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดหรือเป็นแผนการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนทราบว่าจะต้องเรียนรู้อะไร  จึงนับได้ว่าหลักสูตรเป็นแม่บทที่สำคัญในการศึกษา   หลักสูตรที่ดีต้องตอบสนองต่อสังคม  เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง หลักสูตรจึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย (มาเรียม  นิลพันธุ์  2543 : 1)
 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ในหมวดที่ 4 ว่าด้วยแนวการจัดการศึกษา มาตรา 27 วรรคที่ 2   ได้กล่าวถึงการจัดการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับให้ชุมชน    สังคม และภูมิปัญญาท้องถิ่น  ไว้ว่า  “ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว   ชุมชน    สังคม และประเทศชาติ”   กระทรวงศึกษาธิการโดยอาศัยอำนาจตามความใน  มาตรา 74  จึงเห็นสมควรกำหนดให้มีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544   เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศที่มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา  มีคุณภาพชีวิตที่ดี  เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการจัดหลักสูตรสถานศึกษา     โดยมีมาตรฐานการเรียนรู้เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียน สถานศึกษาต้องนำสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดในหลักสูตรไปจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้ผู้เรียนเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติและพลโลก
 การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา     จำเป็นต้องมีการจัดเนื้อหาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามวิทยาการในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม เนื่องด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย    สถานศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวน     ปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา   ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง    (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2550  : 206)
                 ผลการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรอบแรก (พ.ศ. 2544-2548) ของสำนักงานประเมินมาตรฐานการศึกษา (สมศ) พบว่าด้านผู้บริหาร ข้อที่ยังไม่ได้มาตรฐาน คือ การบริหารงานวิชาการ โดยเฉพาะการมีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น มีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (สำนักงานประเมินมาตรฐานการศึกษา. 2549 : 1) จากผลการประเมินภายนอก         อาจกล่าวได้ว่าการใช้หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนแต่ละแห่งยังไม่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น
                กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับการกระจายอำนาจสำหรับครูและศึกษานิเทศก์    โดยกำหนดเนื้อหาการอบรมเรื่องหลักสูตรสถานศึกษาไว้ในกลุ่มสาระวิชาชีพ แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรสถานศึกษามีความสำคัญต่อการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษา  เนื่องจากการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษาเป็นกลไกหนึ่ง ที่สามารถทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาประสบผลสำเร็จ ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ. 2545 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2550  : 2)
        โรงเรียนนับเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของผู้เรียน จึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรสถานศึกษา ทั้งนี้เพราะหลักสูตรของโรงเรียนเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของกระบวนการจัดการศึกษา หลักสูตรจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (dynamic) (ธีระ  รุญเจริญ. 2550 : 280) โดยบทบาทประการสำคัญประการหนึ่งของสถานศึกษา คือ สถานศึกษาต้องสร้างหลักสูตรของตนเองที่เรียกว่าหลักสูตรสถานศึกษา        ทำให้ผู้บริหารและครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาหลักสูตร นอกเหนือจากหน้าที่การสอน เมื่อสถานศึกษาสร้างหลักสูตรแล้วในขั้นต่อไปเป็นการนำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งต้องมีกระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อการใช้หลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2550  : 228)
                      โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม      เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2 จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 – 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล (2550 : 6)  ได้กำหนดวิสัยทัศน์โรงเรียน    คือ    นักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล เป็นคนดี    สุขภาพดี      มีความรู้     ก้าวสู่สากลบนพื้นฐานความเป็นไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำแนวพระราชดำริ นอกจากนี้โรงเรียนยังได้รับการพิจารณาให้เป็นโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ จากกระทรวงศึกษาธิการ  จึงได้กำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา  พัฒนาสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นไว้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ      ประกอบกับโรงเรียนได้มีการนำหลักสูตรสถานศึกษามาใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 จึงเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับสภาพและปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล ว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาในการนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้เพียงใด มีแนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาอย่างไร ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียน
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพ ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  มหามงคล จังหวัดนครปฐม ในด้านการเตรียมความพร้อม ด้านการใช้หลักสูตร และด้านการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร
   ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่  ผู้บริหาร และครูโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม ที่สอนระดับประถมศึกษา  ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา  2550  ประกอบด้วย ผู้บริหาร จำนวน 2 คน และครูจำนวน  52 คน รวมทั้งหมด 54 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม จำนวน 1 ฉบับ แบ่งออกเป็น          3 ตอน  ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ได้แก่  เพศ  อายุ  และประสบการณ์การทำงานของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 แบบสอบถามสภาพและปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม จำนวน 61 ข้อ มีลักษณะเป็นแบบมาตรประมาณค่า  (Rating scale) 5 ระดับ ตามแบบของลิเคอร์ท (Likert)   ตอนที่ 3 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล    จังหวัดนครปฐม  แบบเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ และข้อเสนอแนะอื่น ๆ  โดยมีค่าค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Objective Congruence : IOC) อยู่ระหว่าง 0.67 – 1.00 และค่าความเชื่อมั่น(Reliability)  ทั้งฉบับเท่ากับ 0.99 ได้แบบสอบถามกลับคืน 54  ชุด คิดเป็นร้อยละ 100 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (m) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (s)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

สถานภาพทั่วไปผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง    คิดเป็นร้อยละ 77.78    มีอายุ 41 - 50 ปี คิดเป็นร้อยละ 35.19 และมีประสบการณ์ในการทำงาน มากกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 46.30 
สภาพการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล  จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านการใช้หลักสูตร มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ  ด้านการเตรียมความพร้อม ส่วนด้านการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร  มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด

สภาพการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการเตรียมความพร้อม โดยรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อการกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในหลักสูตรสถานศึกษา และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษามีการกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายการจัดการศึกษาของสถานศึกษา การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาแต่ละช่วงชั้นและสัดส่วนเวลาเรียน   การจัดทำคำอธิบายรายวิชาตามสาระการเรียนรู้ในหลักสูตรสถานศึกษา  ส่วนการสำรวจและจัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้   ความเข้าใจหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด

สภาพการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการใช้หลักสูตร โดยรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า  อยู่ในระดับมากทุกข้อ     โดยข้อการส่งเสริมให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียนมีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้     เช่น    การบูรณาการ   โครงงาน องค์ความรู้จากกลุ่มสาระการเรียนรู้  ส่วนการจัดแนะแนวความรู้ด้านการศึกษาต่อและอาชีพ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (m = 3.87)
สภาพการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อมีการติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในแต่ละภาคเรียนเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่นิเทศภายในโรงเรียน, มีการวางแผนการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร และมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผล  การใช้หลักสูตรภายในสถานศึกษา ส่วนมีการเยี่ยมชั้นเรียน เพื่อสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนสอนของครู มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล    จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าอยู่ในระดับน้อยทุกด้าน    โดยปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร  มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือด้านการใช้หลักสูตร  และด้านการการเตรียมความพร้อม  มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการเตรียมความพร้อม โดยรวมอยู่ในระดับน้อย   เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด โดยข้อการบริหารจัดการงบประมาณ อาคารสถานที่ วัสดุ   อุปกรณ์ และบุคลากรให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา   มีค่าเฉลี่ยสูงสุด  รองลงมาคือ การสำรวจและจัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจหลักสูตรการศึกษา            ขั้นพื้นฐาน,  การจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และการจัดทำระบบสารสนเทศของสถานศึกษา  ส่วนการกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและสาระการเรียนรู้รายปีหรือรายภาค มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการใช้หลักสูตรสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าอยู่ในระดับน้อยทุกข้อ โดยข้อการจัดให้มีห้องแนะแนวโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือ การเลือกใช้ สร้าง และพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยี การประเมินการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบ  และการส่งเสริมให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียน   ส่วนการจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ที่ตอบสนองความต้องการท้องถิ่นและชุมชนมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร โดยรวมอยู่ในระดับน้อย  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าอยู่ในระดับน้อยทุกข้อ โดยข้อมีการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตรจากภายนอกและหน่วยงานต้นสังกัด  มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการใช้หลักสูตรภายในสถานศึกษา,  มีการเยี่ยมชั้นเรียน เพื่อสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนสอนของครู, จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่นิเทศภายในโรงเรียน  และมีการนิเทศ  กำกับ  ติดตาม   การจัดการเรียน การสอนของครูให้เป็นไปตามหลักสูตร ส่วนมีการติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในแต่ละภาคเรียนเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้  มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด

 แนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
                จากสภาพ ปัญหาใช้หลักสูตรสถานศึกษา ที่กล่าวมา มีแนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ดังนี้

          แนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการเตรียมความพร้อม มีแนวทางการพัฒนามากที่สุด คือ ควรพาไปศึกษาดูงานจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย สื่อเอกสารหรือ    ศึกษาจากโรงเรียนนำร่อง เครือข่ายหรือแกนนำหรือโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ รองลงมาคือ   ควรมีการสร้างความตระหนักให้บุคลากรผู้เกี่ยวข้องยังเห็นความสำคัญและร่วมมือกันบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และควรมีเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้กับผู้ปกครอง นักเรียน หน่วยงาน องค์กรในชุมชนทุกฝ่ายได้รับทราบโดยวิธีการที่หลากหลาย ตามลำดับ

                แนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการใช้หลักสูตร   มีแนวทางการพัฒนามากที่สุด   คือ ควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ รองลงมา คือควรส่งเสริมให้ครูทำวิจัยในชั้นเรียน และควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครูทำวิจัยเพื่อพัฒนา ตามลำดับ
                แนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ด้านการนิเทศ และติดตามผลการใช้หลักสูตร มีแนวทางการพัฒนามากที่สุด   คือ  ควรมีการนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผลการใช้หลักสูตรภายในสถานศึกษา, ควรมีการติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในแต่ละภาคเรียน เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ รองลงมา คือ  ควรมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม การจัดการเรียนการสอนของครูให้เป็นไปตามหลักสูตร และควรมีการเยี่ยมชั้นเรียน เพื่อสังเกตการจัดกิจกรรม การเรียนสอนของครู ตามลำดับ

ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
            จากการวิจัยครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
                    1. ด้านการเตรียมความพร้อม     โรงเรียนควรมีการสำรวจและจัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และควรมีการบริหารจัดการงบประมาณ อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากรให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา
                    2. ด้านการใช้หลักสูตร   โรงเรียนควรจัดแนะแนวความรู้ด้านการศึกษาต่อและอาชีพแก่นักเรียน และควรจัดให้มีห้องแนะแนวที่มีครูแนะแนวคอยบริการแนะแนวนักเรียน
                    3. ด้านการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตร  ควรมีการเยี่ยมชั้นเรียน    เพื่อสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู และควรมีการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตรจากภายนอกและหน่วยงานต้นสังกัด

บทสรุป
สภาพการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  มหามงคล     จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับมาก      
ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล  จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับน้อย  
แนวทางการพัฒนาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ     มหามงคล   จังหวัดนครปฐม  สรุปได้ดังนี้    ด้านการเตรียมความพร้อม เห็นว่า มีแนวทางการพัฒนา คือ ควรพาไปศึกษาดูงานจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ศึกษาสื่อเอกสารหรือศึกษาจากโรงเรียนนำร่อง เครือข่ายหรือแกนนำหรือโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ    ด้านการใช้หลักสูตร  มีแนวทางการพัฒนา    คือ   ควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้       ด้านการนิเทศ และ ติดตามผลการใช้หลักสูตร มีแนวทางการพัฒนามากที่สุด      คือ     ควรมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการใช้หลักสูตรภายในสถานศึกษา

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน. กระทรวงศึกษาธิการ (2550.ก). คู่มือดำเนินการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง  เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ   สำหรับครูและศึกษานิเทศก์.  นครปฐม :  สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา.
ธีระ  รุญเจริญ. (2550). ความเป็นมืออาชีพในการจัดและบริหารการศึกษา ยุคปฏิรูปการศึกษา
 

บทความจากภาคนิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาการบริหารการศึกษา เรื่องแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีการศึกษา 2550 (ค.ม. การบริหารการศึกษา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น