วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

อัตลักษณ์สถานศึกษา

        อัตลักษณ์ หากแปลตรงตัวจะมาจาก อัต+ลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะ คำนี้ราชบัณฑิตยสถาน*ได้ให้ความหมาย ดังนี้ คำว่า อัตลักษณ์ (อ่านว่า อัด-ตะ-ลัก) ประกอบด้วยคำว่า อัต (อัด-ตะ) ซึ่งหมายถึง ตน หรือ ตัวเอง กับ ลักษณ์ ซึ่งหมายถึง สมบัติเฉพาะตัว.   คำว่า อัตลักษณ์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า identity (อ่านว่า ไอ-เด็น-ติ-ตี้) หมายถึง ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ เช่น นักร้องกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้ทันที. สังคมแต่ละสังคมมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง. โลกาภิวัตน์ทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยเปลี่ยนไป.
     หากกล่าวถึงอัตลักษณ์สถานศึกษาแล้ว คำว่า อัตลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของสถานศึกษา ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา
      การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีตัวบ่งชี้ ดังนี้
        -ตัวบ่งชี้พื้นฐาน จำนวน ๘ ตัวบ่งชี้ มีค่าน้ำหนัก ๙๐ คะแนน (จำนวน ๒๔ ตัวบ่งชี้ย่อย แต่ละตัวบ่งชี้มีค่าน้ำหนัก ๒.๕ คะแนน ยกเว้นตัวบ่งชี้ย่อยที่ ๕.๑ , ๕.๒ , ๖.๑-๖.๕ , ๗.๑ และ ๘ มีค่าน้ำหนัก ๕ คะแนน ส่วนตัวบ่งชี้ย่อยที่ ๖.๖ มีค่าน้ำหนัก ๑๐ คะแนน)   
        -ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ มีจำนวน ๒ ตัวบ่งชี้ มีค่าน้ำหนัก ๕ คะแนน (แต่ละตัวบ่งชี้มีค่าน้ำหนัก ๒.๕ คะแนน)   
        -ตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม มีจำนวน ๒ ตัวบ่งชี้ มีค่าน้ำหนัก ๕ คะแนน (แต่ละตัวบ่งชี้มีค่าน้ำหนัก ๒.๕ คะแนน)
        ตัวบ่งชี้ด้านอัตลักษณ์กำหนดไว้ ข้อ ๙. การพัฒนาสถานศึกษาให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง หรือจุดเด่น หรือลักษณะพิเศษของประเภทโรงเรียน
       สถานศึกษาควรกำหนดอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของสถานศึกษา